คำถามที่พบบ่อย

Q : ผมมีสมุดเงินฝากออมทรัพย์พิเศษ แต่ไม่ทราบว่าการคิดดอกเบี้ยคิดให้เมื่อใดบ้าง


A :
ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์และออมทรัพย์พิเศษ สหกรณ์จะคำนวณและจ่ายดอกเบี้ยให้วันที่ 31 มี.ค. และวันที่ 30 ก.ย. ของทุกปี ให้ผู้ที่ฝากเงินสามารถมาปรับสมุด หรือถอนดอกเบี้ยได้ และทางสหกรณ์จะแจ้งเตือนไปทางเว็บไซต์ คอยติดตามดูข่าวสารในเว็บไซต์ด้วยนะคะ

Q : ผมลาออกจากสหกรณ์ไป 2 ครั้งแล้ว อยากจะเข้าเป็นสมาชิกสหกรณ์อีก สอ.จะมีนโยบายช่วยเหลืออย่างไรบ้างครับ


A :
ตอนนี้สหกรณ์ได้แก้ไขข้อบังคับแล้วสามารถเข้าได้อีกแต่จะสมัครใหม่ได้ต้องลาออกให้ครบ 1 ปี ถึงจะสมัครใหม่ได้ และต้องเสียค่าธรรมเนียมแรกเข้า 300 บาท ส่งหุ้นครบ 6 เดือน ถึงจะมีสิทธิในการกู้ได้

Q : เรื่องคิวการขอกู้ตอนนี้จัดคิวอย่างไรครับ


A :
ลำดับที่ 1 ผู้กู้หุ้นตัวเอง
ลำดับที่ 2 ผู้กู้เงินสามัญปกติ ซึ่งผู้กู้ได้ยื่นหลักฐานตามลำดับ

Q : เงินกองทุนที่เกินไป นำไปไว้ที่ไหน และนำไปใช้ทำประโยชน์อะไรบ้าง


A :
เก็บไว้ในบัญชีสหกรณ์ออมทรัพย์ กองบิน 5 ซึ่งฝากไว้ที่ธนาคารทหารไทน ซึ่งเงินกองทุนจะเป็นเงินหมุนเวียนที่ใช้ในสหกรณ์และที่สำคัญก็ไว้ช่วยเหลือผู้ค้ำประกันตามนโยบาย

Q : การกู้หุ้นตัวเองดีอย่างไร มีหลักเกณฑ์การกู้อย่างไรครับ


A :
1. การกู้หุ้นตัวเองกู้ได้ 90% ของทุนเรือนหุ้น ส่งชำระได้สูงสุด 150 งวด อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี
2. คิด 25% ของเงินเดือนเท่านั้น ส่วนไม่ต่ำกว่า 4,000 บาท นั้นไม่นำมาคิด
3. ไม่คิดหุ้น 5% ของยอดเงินกู้
4. ไม่คิด 1% เข้ากองทุนช่วยเหลือผู้ค้ำประกัน
5. ไม่ต้องมีคนค่้ำประกัน
6. ทำหลักฐานเสร็จ ให้คณะกรรมการพิจารณาเงินกู้ ตรวจสอบหลักฐานที่ถูกต้อง จ่ายเงินเลย ไม่ต้องรอเข้าที่ประชุม

Q : ผมจะย้ายไปอยู่ อบต.แต่มีหนี้สินกับสหกรณ์ฯ ต้องทำอย่างไรครับ


A :
ตามระเบียบข้อที่ 27 ผู้กู้ก็ดี ผู้ค้ำประกันก็ดีต้องรับผูกพันว่า ถ้าตนประสงค์จะขอโอน หรือย้าย หรือออกจากราชการ หรืองานประจำตามข้อบังคับของสหกรณ์ฯ ข้อ 44 ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้สหกรณ์ทราบและจัดการชำระหนี้สินซึ่งตนมีอยู่ต่อสหกรณ์ฯ ให้เสร็จสิ้นเสียก่อน แล้วจึงขอโอน หรือย้าย หรือออกจากราชการหรืองานประจำนั้นได้

Q : ทำไมคนที่เป็นหนี้ออมสินแล้วถึงไม่มีสิทธิกู้และทำไมคนที่เป็นหนี้ธนาคารอื่นถึงมีสิทธิกู้ได้


A :
ขอให้สมาชิกสอบถามข้อข้องใจกับกรรมการประจำหน่วยของท่านได้ เพราะกรรมการหน่วยจะตอบปัญหาให้ท่านกระจ่างได้อย่างแน่นอนค่ะ เพราะเจ้าหน้าที่ทำตามมติคณะกรรมการเท่านั้น

Q : ถ้าผมจะถอนหุ้นเป็นเงินฝากออมทรัพย์พิเศษได้ไหมครับ


A :
ไม่ได้ค่ะ การถอนหุ้นออกจากสหกรณ์ ก็คือการลาออกจากการเป็นสมาชิกค่ะ และไม่สามารถนำเงินที่ถอนมาฝากออมทรัพย์พิเศษได้ค่ะ จะอธิบายสั้นๆ นะคะว่า หุ้น ผลตอบแทนก็คือ ปันผล เงินฝากออมทรัพย์พิเศษ ก็คือ ดอกเบี้ย ที่จะได้รับตามอัตราดอกเบี้ยที่กำหนด 1 ปี จ่าย 2 ครั้ง เฉลี่ยคืนก็คือ ดอกเบี้ยที่ทางสหกรณ์หักไว้ทั้งปีและคืนให้ตามที่สหกรณ์กำหนดตอนปิดบัญชีของแต่ละปีค่ะ

Q : ผมลาออกครั้งที่ 2 แล้ว ผมจะกลับเข้ามาสมัครสมาชิกอีกได้ไหมครับ


A :
ไม่ได้ค่ะ ผู้ที่ลาออกจากการเป็นสมาชิกแล้ว สหกรณ์จะรับเข้าเป็นสมาชิกใหม่ได้เพียงครั้งเดียว โดยลาออกครบหนึ่งปี และต้องเสียค่าธรรมเนียมคนละ 300.- บาท อันนี้เป็นข้อบังคับของสหกรณ์ฯค่ะ

Q : ถ้าผมกู้เงินเกิน 700,000.- บาท ผมต้องทำประกันชีวิต ค่าเบี้ยประกันนำไปบวกยอดกู้เพิ่มได้หรือเปล่าครับ ซึ่งถ้าหักค่าเบี้ยประกันแล้ว ผมจะได้เงิน 700,000.- เต็มหรือไม่ครับ


A :
ค่าเบี้ยประกัน จะหักกับยอดเงินที่กู้ได้ค่ะ ซึ่งจะเหลือเงินไม่เต็ม 700,000.- บาทค่ะ และเก็บครั้งเดียวตามระยะเวลาที่ทำไว้

Q : บ้านผมเกิดน้ำท่วม สหกรณ์จะช่วยเหลืออะไรบ้างครับ

A : จากเหตุการณ์ที่เกิดอุทกภัยขึ้นเกือบทุกภาคของประเทศ เมื่อ 1-2 เดือนที่ผ่านมาทำให้ มีสมาชิกของเราบางท่านก็ได้รับ
ผลกระทบนี้เช่นกัน คณะกรรมการดำเนินการฯ มีมติที่ประชุมอนุมัติเงินกู้สามัญ กรณีพิเศษ (อุทกภัย) ให้นายองอาจ แววไธสง
สมาชิกสหกรณ์เป็นจำนวนเงิน 440,000.- บาท เพื่อไปซ่อมแซมบ้านพักอาศัย

Q : ผมจะลาออกจากสหกรณ์ ต้องทำอย่างไรบ้างครับ

A : อันดับแรกต้องเปลี่ยนคนค้ำก่อนและถ้ามีหนี้มากกว่าหุ้นก็ต้องนำเงินมาใช้หนี้ก่อน แต่ถ้ามีหุ้นมากกว่าหนี้ก็จะหักลบกลบหนี้กันไป
เสร็จแล้วนำใบลาออกไปให้หัวหน้าหน่วยเซ็นต์รับทราบ แล้วส่งมาที่สหกรณ์เพื่อนำเสนอประธานต่อไป ระยะเวลาขึ้นอยู่กับหลักฐาน
ว่าเรียบร้อยไหม รวมประมาณ 1 อาทิตย์ จนท.จะโอนเงินเข้าบัญชีของท่านเอง อย่าลืมนะคะว่า ถ้าลาออกแล้ว 1 ปี ถึงจะสมัครใหม่ได้
แต่ถ้าลาออกถึง 2 ครั้งจะไม่มีโอกาส ที่จะเข้าเป็นสมาชิกสหกรณ์อีกค่ะ

Q : ผมไม่มีหนี้เลย และไม่เคยกู้ขอเข้าคิวแรกเลยได้ไหมครับ

A : ไม่ได้ค่ะ คิวแรกหรือคิวที่ 1 จะเป็นกู้หุ้นตัวเองเท่านั้นและที่เหลือจะเป็นคิวกู้ปกติที่เรียงตามวันที่มายื่นสัญญาขอกู้คะ

Q : ผมสมัครสหกรณ์ถือหุ้นไว้แค่เดือนละ 500.- บาท ทำไมหักผมไปถึง 800.- บาทครับ

A : ค่ะ ถือหุ้นไว้เพียงเดือนละ 500.- บาท แต่อีก 300.- บาท เป็นค่าธรรมเนียมแรกเข้า ปกติถ้าไม่เคยเป็นสมาชอกเลยจะเก็บ 50.- บาท
แต่ถ้าลาออกไป 1 ปี สมัครเข้ามาใหม่จะเก็บ 300.- บาท

Q : บ้านผมน้ำท่วม ทางสหกรณ์ฯ ช่วยเหลืออย่างไรบ้างครับ


A :
ถ้าสมาชิกมีความเดือดร้อนก็สามารถกู้กรณีพิเศษได้ค่ะ ซึ่งปกติแล้วคนที่กู้ต้องเหลือเงินไว้ 30% แต่กรณีพิเศษฉุกเฉิน เช่น เกิดอุบัติเหตุ เจ็บป่วยร้ายแรงกระทันหัน น้ำท่วม ไฟไหม้บ้าน เป็นต้น กรณีอย่างนี้เงินรายได้สุทธิของสมาชิก อาจเหลือไม่ถึง 30% ก็ได้ แต่การที่สมาชิกจะขอกู้กรณีพิเศษฉุกเฉินนี้
ได้ต้องให้ หน.หน่วยของสมาชิกนั้น เป็นผู้กลั่นกรองข้อมูลเบื้องต้นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นความจริงแล้วนำเสนอต่อไปยัง คณะกรรมการดำเนินการในหน่วยของท่านเพื่อทราบข้อมูลดังกล่าว และส่งต่อมายังฝ่ายจัดการเพื่อนำมาแถลงในที่ประชุมต่อคณะกรรมการสหกรณ์ และจะอนุมัติเป็นรายๆไป แต่ความเดือดร้อน
นั้นๆ ต้องเป็นของสมาชิกเองเท่านั้น (ตามสำเนาทะเบียนบ้าน)

Q : ผมเป็นผู้ค้ำประกันเพื่อนไว้ แต่เขาถึงแก่ความตาย สหกรณ์จะหักเงินผมไหม ?


A : ยังไม่หักค่ะ แต่ผู้ค้ำประกันต้องทำหนังสือถึงคณะกรรมการเื่พื่อร้องขอการผ่อนผันการชำระหนี้ภายในเดือนที่สมาชิกเราค้ำประกันเสียชีวิตลงต่อคณะกรรมการในที่ประชุมประจำเดือนระยะเวลาช่วงแรกไม่เกิน 3 เดือน ซึ่งในเวลา 3 เดือนนี้ ทางสหกรณ์จะรอบำเหน็จตกทอดของผู้ตาย เืพื่อที่จะนำมาชำระหนี้ให้กับสหกรณ์ แต่ถ้ายังดำเนินการไม่เสร็จ ก็ให้ร้องขอชำระหนี้ได้อีกไม่เกิน 3 เดือน คือ รวมระยะเวลาการผ่อนผันไม่เกิน 6 เดือน ถ้าพ้น 6 เดือนแล้วทายาทยังไม่นำเงินมาชำระหนี้ ทางสหกรณ์ก็จำเป็นต้องหักเงินจากคนค้ำประกันจนกว่าจะหมดหนี้ค่ะ

Q : วงเงินกู้ 1,500,000 บาท กู้ได้ทุกคนไหมครับ


A : วงเงินกู้ของแต่ละคนจะไม่เท่ากันค่ะ แต่ยอดเงินสูงสุดที่สหกรณ์ให้กู้ คือ ขยายไปที่ 1.500,000.- บาท ส่วนใครจะกู้ได้เท่าไหร่ มีวิธีการคิดให้ดังนี้ เงินเดือนเด็ม คูณด้วย 30% ได้เท่าไหร่จะกันไว้ก่อน ทีนี้มาดูเงินคงเหลือในสลิปเงินเดือนว่าเหลือเท่าไหร่ ตรงนี้จะเป็นตัวบอกว่าท่านสามารถกู้ได้หรือไม่ แต่ถ้าหักสหกรณ์อยู่แล้ว หรือหักเงินจากสถาบันการเงินอื่นอยู่แล้ว ก็สามารถกู้ได้ เราจะบวกกลับให้เพื่อจะเป็นหนี้ทางเดียว ถ้าสงสัยหรือคิดไม่ได้อย่างไร สอบถามได้ที่เจ้าหน้าที่โดยตรงค่ะ

Q : วิธีการคิดดอกเบี้ยเงินกู้คิดอย่างไรครับ ทำไมดอกเบี้ยเดือนนี้เยอะจัง


A : ดอกเบี้ยเงินให้กู้คิดเป็นรายวันค่ะ ถ้าเดือนไหนมี 30 วัน ก็จะคิด 30 วัน ถ้าเดือนไหนมี 31 วันก็จะคิด 31 วัน แต่วันสิ้นเดือนต้องตรงกับวันทำการนะคะ ถ้าตรงกับวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ให้ยกไปคิดในเดือนถัดไป เช่น เดือนเม.ย. 54 มี 30 วัน แต่บิลออกแค่ 29 วัน เพราะวันที่ 30 ตรงกับวันเสาร์ เพราะฉะนั้น วันที่ 30 เม.ษ.54 จะไปคิดบวกในเดือน พ.ค.54 อีก 1 วัน รวมเป็น 32 วัน เพราะวันที่ 31 พ.ค.54 ตรงกับวันอังคาร ซึ่งจะคิด 31 วันปกติอยู่แล้ว

วิธีคิดดอกเบี้ย
สมมติว่ามีเงินกู้คงเหลือสิ้นเดือน เม.ย.54 อยู่ 200,000 บาท เงินกู้ 200,000 บาท คูณ 7% (อัตราดอกเบี้ยเงินกู้) คูณจำนวนวันในแต่ละเดือน หาร 365
ดอกเบี้นในเดือน พ.ค.54 = ( 200,000 * 7% * 32/365 = 1227.40 บาท)

Q : เกษียนอายุราชการแล้ว ยังเป็นสมาชิกสหกรณ์ต่อได้ไหม


A :
ได้ค่ะ ต้องเป็นสมาชิกก่อนเกษียณอายุราชการเท่านั้น ถ้าเกษียณแล้วลาออกจากสหกรณ์ฯไปแล้วจะกลับเข้ามาเป็นสมาชิกอีกไม่ได้ค่ะ ..
อ่านรายละเอียดได้ในวารสารสหกรณ์ ฉบับที่ 5 ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2554 - พฤษภาคม 2554 ในมุมเกษียณอายุนะคะ

Q : ส่งเงินกู้สามัญมากี่งวดถึงจะกู้ใหม่ได้ครับ


A :
การกู้เงินสามัญของทาง สอ.บน.5 มีอยู่ 3 แบบ
  1. กู้สามัญโดยใช้หุ้นค้ำประกัน พิจารณาก่อนอันดับ 1
  2. กู้สามัญปกติ (ส่งเงินกู้ครบ 1 ใน 4 พิจารณาอันดับ 2)
  3. กู้พิเศษ (ส่งเงินกู้ยังไม่ครบ 1 ใน 4 พิจารณาอันดับ 3)

จะเห็นได้ว่า ท่านที่กู้ไปแล้วสามารถกลับมากู้ใหม่ได้ เพียงแต่ท่านเลือกเอาว่าจะกู้แบบไหน

Q : เป็นสมาชิกสหกรณ์อื่นอยู่ ย้ายมารับราชการที่ บน.5 สมัครสมาชิกได้อีกไหมครับ


A :
ไม่ได้ค่ะ ซึ่งตามข้อบังคับ ข้อ 32 คุณสมบัติของสมาชิก ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
ฯลฯ
(4) มิได้เป็นสมาชิกในสหกรณ์ออมทรัพย์อื่นที่มีวัตถุประสงค์ในการให้กู้ยืมเงิน
ฯลฯ

ระเบียบเขียนไว้ชัดเจน แต่ถ้าหากประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกโดยการโอนสภาพการเป็นสมาชิกระหว่างสหกรณ์ต้องยื่นใบสมัครถึงสหกรณ์ตามแบบที่กำหนดและผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการก่อน ถ้าผู้สมัครมีหนี้สินอยู่กับสหกรณ์เดิมและสหกรณ์จะต้องชำระหนี้แทน โดยเรียกให้ผู้สมัครทำหนังสือกู้และจัดทำหลักประกันเงินกู้ให้ไว้แก่สหกรณ์ที่กำหนดไว้ในระเบียบฯ

Q : ตรวจสอบคนค้ำประกันทางโทรศัพท์ได้ไหมครับ


A :
ภาระค้ำประกันของสมาชิก ถือเป็นความลับ ไม่สามารถเปิดเผยได้ หากท่านต้องการเช็คว่าท่านค้ำประกันใครไปแล้วบ้างและใครค้ำท่าน กรุณามาสอบถามด้วยตนเองที่ สหกรณ์โดยตรง หรือท่านสามารถเข้าไปดูข้อมูลส่วนตัวผ่านทางเว็บไซต์ สอ.บน.5ฯ ได้เช่นกัน แต่จะสอบถามภาระการค้ำประกันของผู้อื่นไม่ได้นะคะ

Q : สมาชิกที่เสียชีวิต สอ.ให้อะไรบ้าง


A : สมาชิกที่เสียชีวิต สอ. ให้ดังนี้
  • ได้ให้เงินทุนสงเคราะห์ศพฯ ตามหลักเกณฑ์
  • ผ่อนผันการชำระหนี้ให้ตามระยะเวลาอันสมควร
  • คิดดอกเบี้ยเงินกู้ที่เหลือให้อัตราร้อยละ 1 ต่อปี

Q : ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์คิดยังไงครับ


A : ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ สหกรณ์จะคำนวณ และจ่ายดอกเบี้ยให้ทุกรอบ 6 เดือนของปีบัญชี (31 มี.ค. , 30 ก.ย.)
คำนวณเป็นรายวันตามยอดเงินคงเหลือ ถ้าสมาชิกถอนเงินฝากออกจากบัญชี ก่อนถึงเวลาที่กำหนดไว้ สหกรณ์จะไม่จ่ายดอกเบี้ย
สำหรับเงินฝากจำนวนที่ได้ถอนออกไปจากบัญชี ตลอดช่วงระยะเวลาสำหรับการจ่ายดอกเบี้ยในครั้งนั้นๆ

Q : พนักงานราชการกู้ได้เท่าไหร่ครับ


A : กู้ได้ไม่เกิน 2 เท่าของทุนเรือนหุ้น ระยะเวลาส่งคืน ไม่เกิน 48 งวด (ตามระยะเวลาสัญญาจ้าง) แต่ทั้งนี้วงเงินต้องไม่เกิน 150,000 บาท
หลักประกัน ต้องมีบุคคลค้ำประกันไม่น้อยกว่า 2 คน โดยต้องมีสมาชิกที่เป็นข้าราชการหรือลูกจ้างประจำค้ำประกันด้วยอย่างน้อย 1 คน
พนักงานราชการ 1 คน

Q : ผมย้ายไปรับราชการที่สังกัดอื่น มีสิทธิ์กู้ได้ไหมครับ


A : สมาชิกที่โอนหรือย้ายสังกัดรับราชการ ไม่มีสิทธิ์กู้ค่ะ แต่จะมีสิทธิ์ได้รับเงินปันผลและเฉลี่ยคืน ตามปกติ

Q : กู้ฉุกเฉินได้เท่าไหร่

A : กู้ได้ครึ่งหนึ่งของเงินเดือนแต่ไม่เกิน 10,000 บาท ผ่อนชำระ ได้ 4 งวด ยื่นได้ทุกวัน เอกสารเรียบร้อย รับเงินกับบ้านเลยค่ะ
อยากได้เงินเร็ว ก็เตรียมเอกสาร มาดังนี้นะคะ 

  1. ขอเอกสารเงินกู้ได้ที่ สอ. กรอกสัญญาให้เรียบร้อย นำไปให้เจ้าหน้าที่การเงินเซ็นรับรองเงินเดือนก่อนนะคะ
    จะได้ไม่เสียเวลากลับไปอีก และนำมาให้ทาง จนท.สอ. เช็คยอดคงเหลือก่อน
  2. แนบสลิปเงินเดือนมาด้วยนะคะ จนท. จะดูว่าท่านมีเงินคงเหลือเกิน 15% หรือไม่
  3. นำหลักฐานไปให้กับหัวหน้าหน่วยของท่านเซ็นรับทราบ และกรุณานำไปให้กับท่านรองประธานซ็นอีกที ก็เป็นอันเสร็จสมบูรณ์
  4. นำหลักฐานมารับเงินกับ จนท.การเงินของเราได้เลย

Q : ทําไมกู้สามัญอยู่แล้วจะกู้หุ้นได้อีกไหม

A : ไม่ได้ค่ะ เงินกู้สามัญโดยใช้ทุนเรือนหุ้นเป็นหลักประกันนั้น จะกู้ได้ไม่เกินร้อยละ 90 ของทุนเรือนหุ้น
เช่น ถ้าท่านมีทุนเรือนหุ้นอยู่ 102,000 บาท 90% ของทุนเรือนหุ้น คิดเป็นจำนวนเงินเท่ากับ 91,800 บาท
แต่ถ้าท่านมีหนี้สามัญ โดยใช้บุคคลค้ำประกันอยู่แล้ว เป็นจำนวน 243,000 บาท ซึ่งเกินกว่าร้อยละ 90
ของหุ้นอยู่แล้ว ท่านจึงกู้โดยใช้หุ้นไม่ได้อีกค่ะ

Q : ทําไมดอกเบี้ยเดือนหลัง มากกว่าเดือนก่อน ทั้ง ๆ ที่เงินต้นก็ลดลงทุกเดือน

A : เพราะสหกรณ์คิดดอกเบี้ยเป็นรายวันค่ะ ดังนั้น ถ้าเดือนถัดมาจำนวนวันมากกว่า จำนวนดอกเบี้ยจึงมากกว่าไปด้วยค่ะ